[เรียนสิงคโปร์] สมัครเรียนอย่างไรให้ติดที่ National University of Singapore (NUS) อันดับ 1 ในเอเชีย อันดับ 11 ของโลก

nichyhan
5 min readFeb 1, 2021

[ใครถนัดอ่านในเว็บ Pantip สามารถอ่านได้ ที่นี่]

สวัสดีค่ะเพื่อนๆ ยินดีต้อนรับสู่บล็อค nichyhan (นิชชี่ฮาน) วันนี้เราจะมารีวิวการสมัครเรียนอย่างไรให้ติดที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ National University of Singapore (NUS) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 แห่งเอเชีย และอันดับที่ 11 ของโลก [ที่มา QS World University Rankings] เราได้ทำคลิปวิดิโอเล่าเรื่องไว้ด้วย เพื่อนๆสามารถเข้าไปดูหรืออ่านแบบละเอียดได้ในบทความนี้ค่ะ

กด Subscribe ติดตามเรื่องราวได้ใน Youtube: nichyhan

My Journey to NUS | กว่าจะได้เรียนที่ NUS

หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยนี้มาบ้างในเรื่องของการแข่งขันที่สูงมากที่กว่าจะได้เข้าไปเรียนนั้นอ่านหนังสือเตรียมสอบเลือดตาแทบกระเด็น ยิ่งเฉพาะนักเรียนต่างชาติยิ่งยากมาก เพราะที่นั่งเรียนสำหรับนักเรียนต่างชาติมีจำกัดเพื่อให้นักเรียนสิงคโปร์มีโอกาสเรียน ซึ่งจะแตกต่างกับมหาวิทยาลัยในอังกฤษและอเมริกาที่เปิดที่นั่งให้นักเรียนต่างชาติมากกว่า ซึ่งบทความใน Quora อันนี้ได้อธิบายอย่างชัดเจนถึงความยากลำบากในการเข้าไปเรียนอย่างละเอียด

หลักสูตรที่ไปเรียน…

สาขาที่เราสมัครเรียนต่อคือปริญญาโท MSc Data Science & Machine Learning ซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 โดยตัวหลักสูตรเน้นการเรียนเพื่อจบมาทำงานในสาย Data โดยเฉพาะ และแน่นอนว่าเป็นสาขาฮอตฮิตในยุคปัจจุบันเลยก็ว่าได้ การเรียนเป็นแบบ Coursework ที่ต้องเข้าห้องเรียนตามวิชาและทำงานส่ง ระยะเวลาเรียนคือ 1–2 ปี สำหรับเรียนแบบ Full time

หลักสูตรนี้น่าสนใจตรงที่ว่า มีวิชาบังคับให้เรียนอยู่เพียง 5 วิชา และอีก 5 วิชาเราสามารถเลือกที่จะเรียนในสาขาย่อยดังต่อไปนี้
1. Deep Learning for Data Scientists
2. Data Mining for Industry
3. Big Data for Industry
4. Data science in Computer Vision
5. Data science for Quantitative Finance
6. Data science for the Internet of Things
7. Health Informatics
จะเห็นได้ว่าวิชาเรียนเป็นการเรียนเพื่อ Industry จริงๆ และในหลักสูตรมีวิชาบังคับที่ต้องทำ Project เพื่อกับบริษัทต่างๆ เพราะฉะนั้นหลักสูตรนี้จึงไม่มีทุนการศึกษาจาก NUS เพราะไม่ใช่การเรียนไปเพื่อทำวิจัยต่อระดับปริญญาเอกนั่นเอง

สาขาย่อยที่เราเล็งว่าจะไปเรียนคือ Health Infomatics เนื่องจากเราสนใจเรื่องแนว Healthcare และมาตั้งแต่เด็ก (ที่บ้านก็ทำงานสายการแพทย์กัน) ก็เลยอยากเรียนเจาะลึกทางด้านนี้เลย ในประเทศไทยก็มีหลักสูตรที่คล้ายกันที่เดียวคือที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ซึ่งเรียนสองปี ใครสนใจเรียนในไทยดูได้ ที่นี่

ประสบการณ์ด้านวิชาการ (Academic Background) ต้องแน่นขนาดไหนถึงจะสมัครติด…

จากที่กล่าวไปว่าการแข่งขันเข้าเรียนนั้นสูงมาก หากเพื่อนๆหรือน้องๆที่กำลังเรียนปริญญาตรีอยู่ในไทยได้อ่านบทความนี้ก็ขอบอกเลยว่า

ควรได้เกียรตินิยมอันดับ 1

ช่วงที่เราสมัครเรียนป.โท เราไม่ได้สมัครแค่ NUS แต่สมัครมหาวิทยาลัยท็อปๆที่อังกฤษ เช่น Imperial (อันดับ 8), UCL (อันดับ 10) ด้วย ซึ่งเกณฑ์ของหลายมหาวิทยาลัยมีการเขียนบอกไว้ว่า ตอนป.ตรีต้องได้เกียรตินิยมอันดับ 1 หรือได้ GPA เกินเกณฑ์ที่เขากำหนดไว้จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในประเทศ สำหรับของ NUS ระบุไว้ว่าเกรดเฉลี่ยต้องเกิน 3.00 ขึ้นไป

ตัวอย่าง เกณฑ์การรับนักศึกษาเข้าเรียน MSc Data Science ของ UCL ระบุไว้ว่าต้องได้เกรดเกิน 3.3/4.0
ตัวอย่าง เกณฑ์การรับเข้าศึกษา MSc Artificial Intelligence ของ Imperial College London ระบุว่าต้องได้เกียรตินิยมอันดับ 1

ส่วนประสบการณ์การเรียนของเรา เราไม่ได้จบโรงเรียนนานาชาติ… เราจบมัธยมปลายที่โรงเรียนราชินีบน หลักสูตรไทย ซึ่งเรียนไทยมา 14 ปี สมัยนั้นภาษาอังกฤษยังไม่ค่อยดีมาก แต่เป็นวิชาที่ชอบเรียนที่สุด ตอนต่อระดับปริญญาตรีเลยเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาซอฟต์แวร์และความรู้ (หลักสูตรนานาชาติ) เป็นระยะเวลา 3 ปี

ช่วงระหว่างเรียนได้ไปเห็นว่าภาควิชาวิศวะเครื่องกลมีโปรแกรมแลกเปลี่ยนนักเรียนกับมหาวิทยาลัยที่ประเทศอังกฤษ แต่ภาควิชาคอมพิวเตอร์ยังไม่มี เราเลยเสนอและผลักดันโปรแกรมนี้ พร้อมปรึกษาอาจารย์ จนในที่สุดก็ได้ไปแลกเปลี่ยนที่ Newcastle University ประเทศอังกฤษ ตอนปี 4 ตอนนั้นเราสนใจเกี่ยวกับ Biocomputing เลยเลือกทำโปรเจ็กเกี่ยวกับหัวข้อนี้ ก่อนจบเราต้องส่งโปรแกรม และเขียน Dissertation กว่า 12,000 words คนเดียว พร้อมกับทำงาน Part-time ที่ร้านอาหารไทย เพื่อฝึกภาษาอังกฤษ และหาเงินค่าขนมไปด้วย หลังจากเรียนปี 4 จบก็กลับไทยมาปริญญาของม.เกษตร พร้อมเกรดเฉลี่ย 3.65 เกียรตินิยมอันดับ 1

เรามองว่าการที่ได้แค่เกรดดีพร้อมเกียรตินิยมอันดับ 1 นั้นไม่พอ เราต้องแสดงให้ทางมหาวิทยาลัยเห็นผ่านทางการเขียน Statement of Purpose (ซึ่งจะกล่าวในเร็วๆนี้) ว่านอกจากการเรียนเราทำอะไรไปบ้าง เช่น การริเริ่มทำอะไรใหม่เพื่อมหาวิทยาลัย การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ หรือการเป็นคณะกรรมการสโมสร ฯลฯ

ประสบการณ์ด้านการทำงานในองค์กร (Professional Background)

Photo by You X Ventures on Unsplash

ส่วนตัวแล้วเรารู้สึกว่าประสบการณ์ด้านการทำงานในองค์กรมีผลน้อยต่อการสมัครเรียนที่ NUS ถ้าไม่ใช่คอร์ส MBA ซึ่งในมหาวิทยาลัยหลายที่จะมีเกณฑ์ว่าต้องมีประสบการณ์การทำงานมาก่อน 3–5 ปี ถึงจะสมัครเรียนได้ สำหรับการเรียนปริญญาโท (Master) สาขาอื่นๆ ไม่ได้ต้องการประสบการณ์การทำงานมากนัก

เนื่องจากเราจบป.ตรีจากมหาวิทยาลัยมานานแล้ว และทำงานด้าน IT ต่อที่บริษัทน้ำมันข้ามชาติแห่งหนึ่งเป็นระยะเวลา 3 ปี 3 เดือน ซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่มากระดับหนึ่งและใช้ภาษาอังกฤษในการทำงานเป็นหลัก เราเลยเลือกที่จะเขียนประสบการณ์และผลงานการทำงานเด่นๆของเราส่งให้มหาวิทยาลัยด้วย เพราะรู้สึกว่าถ้าเขียนแค่ประสบการณ์เรียนป.ตรีมันไม่ยิ่งใหญ่พอ สิ่งหนึ่งที่เราแปลกใจคือเวลาสมัครเรียนในหลายๆที่ เขาจะถามถึง “เงินเดือน” ในแต่ละตำแหน่งที่เราทำ เราเดาว่าเขาอาจจะวัดว่าผู้สมัครมีความสามารถการทำงานอย่างไรจากเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับผลประเมินงานของเรานั่นเอง ในส่วนของเราปรับขึ้นประมาณ 13%, 20%, 15% ในเวลาสามปีที่ทำงานมา

จดหมายแนะนำจำเป็นไหม?

Photo by Álvaro Serrano on Unsplash

โดยปกติแล้วเวลาสมัครมหาวิทยาลัยดังๆผู้สมัครจะต้องยื่นจดหมายแนะนำ (Recommendation Letter) จากอาจารย์หรือหัวหน้าด้วย ถ้าเป็นคอร์ส MBA จะใช้จดหมายจากหัวหน้างานเป็นหลัก แต่ถ้าเป็น Master อื่นก็จะเน้นจดหมายจากอาจารย์ ซึ่งระบุว่าสมัยเราเรียนและทำโปรเจ็กเป็นอย่างไรบ้าง

ถึงแม้ว่าสาขา Data Science ของ NUS จะระบุในหน้าเว็บว่าไม่ได้ต้องการหนังสือแนะนำก็ตาม แต่เราขอให้อาจารย์และหัวหน้างานเขียนจดหมายแนะนำให้ด้วย โดยได้จากอาจารย์ 1 ฉบับ และจากหัวหน้างานสองท่านอีก 2 ฉบับ (ภาษาอังกฤษทุกฉบับ) เป็นเอกสารประกอบเพิ่มเติมไป เพราะเวลาสมัครเรียนมหาวิทยาลัยดังๆที่อังกฤษก็ต้องใช้จดหมายแนะนำเช่นเดียวกัน ซึ่งเราเดาว่าปัจจัยนี้ก็มีส่วนที่ทำให้เราถูกเรียกตัวสัมภาษณ์ค่อนข้างรวดเร็วหลังจากยื่นสมัครเรียนไป

การสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ…

ปกติการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษมาตรฐานสำหรับเรียนต่อมีสอบระบบคือ ระบบ IELTS ที่ใช้สำหรับเรียนต่อประเทศในเครือสหราชอาณาจักร (UK) และ TOEFL ที่ใช้สำหรับเรียนต่อประเทศอเมริกา สำหรับบทความนี้ขออธิบายเฉพาะ IELTS เนื่องจากเราเคยไปอยู่อังกฤษมาเลยถนัดสอบ IELTS มากกว่า

Photo by Nguyen Dang Hoang Nhu on Unsplash

ในหน้าเว็บ NUS เขียนไว้ว่านักเรียนต่างชาติควรจะได้ IELTS 6.0 ขึ้นไป ส่วน TOEFL มากกว่า 580 (Paper-based) หรือ 85 (Internet-based) แต่คะแนน 6.0 มันพอที่จะทำให้เราสมัครเรียนติดไหม คำตอบง่ายๆเลยคือ “ไม่น่าจะติด” เพราะอย่าลืมว่าเพื่อนๆกำลังลงแข่งกับนักเรียนสิงคโปร์ผู้ซึ่งพูดภาษาอังกฤษกันน้ำไหลไฟดับ ถ้าใครเคยทำงานกับคนสิงคโปร์จะรู้เลยว่า คนไทยพูดไม่ทันพวกเขาหรอก เพราะฉะนั้นควรทำคะแนนให้สูงกว่าเกณฑ์ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดไว้

เราสอบ IELTS แบบ Internet-based เนื่องจากรอบแรกที่เคยสอบตอนไปเรียนที่อังกฤษเรายังสอบในกระดาษและเจอปัญหาว่าเวลาเขียน Writing เราลบไปลบมาเสียเวลาและเขียนไม่ทัน การสอบในคอมพิวเตอร์เลยสะดวกกว่ามาก และเหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ถนัดการพิมพ์คอมอยู่แล้ว ส่วนคะแนนของเราเฉลี่ยอยู่ที่ 7.0 ซึ่งเป็นระดับที่บอกว่าแค่ Good เท่านั้น

การสอบวัดระดับเพื่อเรียนป.โท…

ข้อสอบอีกสองตัวที่พลาดไม่ได้สำหรับการเรียนต่อป.โทที่มหาวิทยาลัยดังๆเลยคือ GMAT และ GRE ซึ่งเป็นข้อสอบวัดความรู้ด้านคณิตศาสตร์ การวิเคราะห์ การใช้ภาษาอังกฤษ และการเขียน ซึ่งบอกเลยว่ายากกว่า IELTS และ TOEFL หลายเท่าตัวมากๆๆๆๆๆ เพราะเป็นข้อสอบที่ออกมาเพื่อวัดความรู้ความเข้าใจภาษาอังกฤษของ Native speakers โดยแท้ทรู หากใครเคยลองเปิดข้อสอบเก่าดูจะพบกับคำศัพท์ที่เกิดมาชีวิตนี้ฉันไม่เคยเจอและไม่คิดจะเจอที่ไหนด้วย เหมือนหลุดออกมาจากวรรณคดีทั้งนั้น

Photo by Lacie Slezak on Unsplash

ความแตกต่างระหว่างสองตัวนี้คือ GMAT จะใช้ยื่นใน Business School ส่วน GRE จะใช้ยื่นในคณะอื่นๆ สำหรับ NUS เขาเขียนอธิบายในนี้ไว้ว่าควรมีผลสอบระดับป.โทมาด้วย แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้สอบซักตัวทั้งๆที่ซื้อหนังสือมาทำโจทย์และท่องศัพท์ไว้หลายเดือนเพราะเตรียมตัวสอบไม่ทัน ต้องรีบยื่นสมัครเรียนพอดี

สำหรับใครที่ไม่ได้เรียนสาย Computer Science, Engineering, Maths, Statistics, Physhics มันสำคัญนะที่จะต้องมีคะแนน GRE เพราะอย่างน้อยเพื่อนๆต้องสอบวิชาเลข ซึ่งเป็นเลขระดับม.ต้น-ม.ปลาย ส่วนนี้สำหรับคนไทยคือไม่ยากเลยน่าจะทำกันได้สบายๆ ที่จะไปพลาดกันคือส่วนของวิชาภาษาอังกฤษนั่นเอง

เขียน Statement of Purpose อย่างไรให้โดนใจมหาวิทยาลัย…

Statement of Purpose (SOP) หรือบางครั้งเรียกว่า Personal Statement คือการร่ายมหากาพย์เรื่องราวเกี่ยวกับ “ตัวเอง” ว่ามีความสามารถอะไรบ้าง, ทำไมถึงอยากที่จะเรียนในสาขานี้ และแผนในอนาคตที่จะทำคืออะไร ความยาวในการเขียนก็ประมาณหนึ่งหน้าครึ่งกระดาษ A4

Photo by Green Chameleon on Unsplash

สิ่งแรกที่เพื่อนๆควรทำเลยคือ “ไม่ลอกงานของคนอื่น”เนื่องจากมหาวิทยาลัยดังๆเขามีโปรแกรม Plagiarism เพื่อเอาไว้ตรวจสอบดูว่างานเขียนของเราเหมือนกับของคนอื่นในอินเตอร์เน็ตหรือในระบบของมหาวิทยาลัยมากน้อยขนาดไหน หากเพื่อนๆไปอ่านตัวอย่างจนถูกใจประโยคสวยหรูของคนอื่น และเอามาใส่ในงานของตัวเอง เรามั่นใจเลยว่าระบบจะปัดเพื่อนๆออกแน่นอน

นอกจากนี้เพื่อนๆไม่มีความจำเป็นที่จะเสียพื้นที่ในกระดาษเพื่อเขียนอวยมหาวิทยาลัย เช่น อวยว่าเป็นมหาวิทยาลัย Top 10 ของโลกและมีชื่อเสียงมาก บลา บลา บลา… เขียนแบบนี้มาก็โดนปัดออกเช่นกัน “พื้นที่กระดาษแผ่นนี้คือเวทีของคุณในการแสดงศักยภาพ ผลงาน ประสบการณ์ ความตั้งใจ แผนในอนาคต” และอย่าลืมปิดท้ายด้วยการเขียนเหตุผลว่าหลังจากที่เราเรียนสาขานี้ไปเราอยากจะนำความรู้ไปทำประโยชน์อะไรต่อ เช่น ไปทำระบบดีๆให้คนรุ่นหลังใช้ ไปพัฒนาประเทศ หรือทำธุรกิจที่เราฝันอยากจะทำมัน ควรคิดถึงผลประโยชน์แก่ผู้อื่นในวงกว้าง อย่าเขียนเหตุผลที่แสดงถึงประโยชน์ที่ได้เฉพาะตัวเอง เช่น เพื่อทำงานในสายที่ลึกขึ้น ได้เงินเดือนมากขึ้น แบบนี้ผู้อ่านเห็นแล้วก็รู้สึกว่าความตั้งใจที่อยากจะนำความรู้ไปใช้จริงๆยังไม่มีพลังมากพอ สุดท้าย… อย่าลืมให้คนอื่นช่วยเช็คเรื่อง Grammar และความลื่นไหลของ SOP นะจ๊ะ

ตัวอย่าง Statement of Purpose ของเรา (ห้ามคัดลอกไม่ว่าจะส่วนใดส่วนหนึ่งของงานเขียน มิฉะนั้นจะดำเนินการตามกฎหมาย)

ช่วงเวลาสมัครเรียน…

ระยะเวลาเปิดสมัครเรียนแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นแตกต่างกัน แต่จะอยู่ช่วงประมาณเดือนตุลาคม (2020) เพื่อที่จะเปิดเรียนในช่วงสิงหาคม-กันยายนของปีถัดไป (2021) ยังไม่รวมเวลาสอบวัดระดับต่างๆที่จะต้องไปทำอีก ตีคร่าวๆก็เตรียมตัวประมาณหนึ่งปีก่อนไปเรียน เราเริ่มสอบ IELTS ตอนเดือนสิงหาคม 2020 และเริ่มเขียน SOP ช่วงเดือนกันยายน ซึ่งใช้เวลาเขียนสองสัปดาห์เต็ม เนื่องจากเราทำงานบริษัทไปด้วยเลยไม่ค่อยมีเวลาและอารมณ์เขียน บวกกับนึกไม่ค่อยออกด้วยว่าจะเขียนอย่างไรให้โดนใจมหาวิทยาลัยเลยใช้เวลาค่อนข้างนาน

การรับเข้าสมัครสอบของมหาวิทยาลัยดังๆหลายแห่ง รวมถึง NUS เป็นแบบ Rolling system หมายถึงถ้าสมัครเร็ว เขาก็จะดูใบสมัครเราเลย ไม่รอให้จนถึงวันปิดสมัครแล้วค่อยแจ้งกลับ ที่ NUS สาขาที่เราสมัครเปิดรับตั้งแต่ต้นตุลาคม 2020 ถึง ปลายเดือนมกราคม 2021 เราสมัครไปวันที่ 10 หลังจากระบบเปิดให้สมัคร และได้รับอีเมลจากมหาวิทยาลัยเพื่อเข้าสัมภาษณ์ในหนึ่งเดือนครึ่งถัดมา หลังสัมภาษณ์เสร็จประมาณ 10 วัน ช่วงต้นมกราคม 2021 อาจารย์ก็ส่งอีเมลมาแจ้งว่าผ่านสัมภาษณ์แล้ว ให้เรารอใบ Official Offer จากมหาวิทยาลัยอีกสองสัปดาห์ถัดมา เพราะฉะนั้นหากตั้งใจว่าอยากเรียนก็ต้องติดตามช่วงระยะเวลาอย่างใกล้ชิด

เราแนะนำให้ทำตารางเพื่อนไล่ดูว่า Timeline แต่ละที่เป็นอย่างไรบ้าง เพราะหลายๆที่ต้องสมัครเรียนเอง ไม่สามารถสมัครผ่าน Agency ได้ เราจะได้ติดตามสถานะของแต่ละที่ว่าไปถึงไหนแล้ว เพื่อกันสับสนในกรณีที่สมัครเรียนหลายมหาวิทยาลัย

ตัวอย่าง Timeline Tracking

สัมภาษณ์เข้าเรียน…

หลังจากอาจารย์ส่งอีเมลมาเรียกสัมภาษณ์ เราก็ตื่นเต้นมากจนแอบไปถามเพื่อนคนสิงคโปร์ที่กำลังเรียนอยู่ที่ NUS ว่าสัมภาษณ์ยากไหม คำตอบของนางคือ…เหมือนคุยเล่นกัน =__= นางเป็นศิษย์เก่าด้วยแหละคงสนิทกับอาจารย์อยู่แล้ว

Photo by Christina @ wocintechchat.com on Unsplash

แต่สำหรับเรามันไม่ใช่ไง!! มันคือ 20 นาทีที่ชี้ชะตาว่าแกจะได้ที่เรียนหรือไม่ได้เรียน และในรายชื่อวันที่สัมภาษณ์ก็มีแต่คนจีน คนสิงคโปร์มาทั้งนั้น มีคนไทยแค่เราคนเดียว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำก่อนวันสัมภาษณ์เลยคือการเตรียมตัวลำดับสมอง จำลองเหตุการณ์ว่าอาจารย์จะถามคำถามอะไรบ้าง เราถึงกับปรึกษาพ่อแม่และเพื่อนว่าถ้าพวกเขาเป็นอาจารย์ เขาจะถามอะไรบ้าง และเราควรตอบอย่างไรให้อาจารย์ตราตรึงที่สุด และด้านล่างก็คือคำถามที่อาจารย์ถามในวันสัมภาษณ์ และสิ่งที่เราตอบไป

1. How did you know about this course?
จากเพื่อนสิงคโปร์ที่กำลังเรียน NUS สาขา AI อยู่

2. Tell me about your bachelor’s degree in Thailand and the UK.
สิ่งที่เราเล่าในช่วงป.ตรีต้องตรงกับ Resume และ SOP ที่เคยเขียนส่งไป อย่าลืมว่าอาจารย์คัดกรองเราด้วยเอกสารที่ส่งไปตอนแรก เพราะฉะนั้นเรื่องราวจะต้องตรงกัน

3. What did you do about the dissertation?
ข้อนี้เราเตรียมคำตอบมาล่วงหน้าด้วยการย้อนหลังไปอ่าน Paper 12,000 words ของตัวเองว่าเคยทำอะไรไว้บ้าง เพราะผ่านมาหลายปีแล้วจำไม่ค่อยได้ว่าทำอะไรไปบ้าง

4. What programming languages you know?
ข้อนี้ก็ตอบตามความเป็นจริงว่ารู้ภาษาอะไรบ้าง และเราเสริมเพิ่มไปด้วยว่าช่วงนี้กำลังเรียน Python ออนไลน์ด้วยตัวเองซึ่งเป็นภาษาที่ใช้สำหรับ Data Science เพื่อเตรียมตัวที่จะได้ที่เรียนป.โทต่อ ตรงนี้เราจงใจอยากให้อาจารย์เห็นว่าเรามีความตั้งใจและเตรียมตัวเรื่องพื้นฐานก่อนไปเรียนกับเขา

5. Did you pay tuition fee yourself or receive a scholarship during undergraduate level?
อย่างที่เขียนไว้ตอนแรกว่าคอร์สนี้ไม่มีทุนการศึกษาให้ เราเลยคิดว่าอาจารย์คงเช็คว่าเรามีเงินพอที่จะส่งตัวเองเรียนในระดับป.โทต่อหรือเปล่า ซึ่งจริงๆตอนสมัครสอบเราก็แนบ Financial statement จากธนาคารไปด้วยอยู่แล้วว่าเตรียมเงินไว้พอเรียน

6. What do you plan after the study?
ข้อนี้เราตอบว่าเราสนใจเรียนสาขาย่อย Health informatics เป็นพิเศษเพราะที่บ้านเราทำสายแพทย์และเราคุ้นเคยกับระบบนี้ ตรงนี้เราแสดงให้อาจารย์เห็นว่าเราศึกษาคอร์สเรียนของเขามาอย่างละเอียด นอกจากนั้นยังเล่าว่าเราเห็นโอกาสอีกมากมายที่สายการแพทย์จะเติบโตในประเทศ และอยากจะนำความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆจาก “สิงคโปร์” กลับมาพัฒนา “ประเทศไทย” ตรงนี้เราก็จะเน้นๆขยี้เป็นพิเศษให้อาจารย์เห็นถึงความตั้งใจระยะยาวที่เราวางแผนไว้ ซึ่งสอดคล้องกับที่เขียนไว้ใน SOP

Photo by Tim Mossholder on Unsplash

หลังจากที่อาจารย์ถามคำถามเราเสร็จก็เป็นตาของเราที่ถามอาจารย์กลับบ้าน ซึ่งตรงนี้เราเตรียมคำถามมาก่อนหน้าแล้ว เพื่อนๆควรเตรียมคำถามไว้สัก 2–3 คำถาม ไม่ควรที่จะอยู่นิ่งๆ ไม่ถามอะไร เพราะการช่างซักถามก็เป็นทักษะหนึ่งที่ควรมีไว้สำหรับการเรียน เราถามคำถามต่อไปนี้…

1. When is the announcement date?
ข้อนี้เป็นคำถามทั่วไปที่เราอยากรู้ว่าจะประกาศผลช่วงประมาณไหน
2. I understand that career path is in the hospital. Is there other organization that I can work with?
ข้อนี้เราอยากแสดงให้อาจารย์เห็นว่าเราอยากเรียนเพื่อนำความรู้กลับมาใช้ทำงานต่อใน Industry ซึ่งสอดคล้องกับจุดประสงค์ของปริญญาโทนี้ที่ต้องการผลิตคนทำงานในสายนี้ต่อ ไม่ใช่ผลิตนักวิจัย เราเลยอยากรู้ว่าถ้าเราเรียนในสาย Health informatics แล้วจะมีที่ทางการทำงาน และลักษณะงานแบบไหนบ้าง
3. I understand that the course offers a project. Does the project work with the company using real cases?
ข้อนี้เราขยี้ไปที่วิชาโปรเจ็กจบที่ต้องทำกับ Industry เพราะเราอยากลองทำเคสจริงๆที่ในบริษัทเขาทำกันเลย ตรงนี้ก็แสดงให้เห็นว่าเราทำเตรียมตัวทำการบ้านดูวิชาเรียนมาอย่างดี

สรุปแล้วการสัมภาษณ์ คำถามไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น เป็นการให้เราเล่าเรื่องชีวิตตัวเองบวกกับขี้โม้หน่อยๆว่าไปทำอะไรมาบ้างมากกว่า แทบจะ 100% ของคำตอบและคำถามคือตรงกับที่เตรียมตัวทำการบ้านมาก่อนหน้านี้ เราแนะนำว่าก่อนวันสัมภาษณ์ต้องเข้าใจจุดประสงค์ของหลักสูตรนี้ว่ามหาวิทยาลัยต้องการอะไร และตัวเราต้องการได้อะไร และแสดงให้เขาเห็นว่าความต้องการทั้งสองฝ่ายมันสอดคล้องกัน อย่าลืมทำการบ้านทบทวนโปรเจ็กต์ตอนป.ตรี และเตรียมคำถามในใจไว้ดีๆ

สุดท้าย…เนื่องจากการสัมภาษณ์เป็นแบบออนไลน์ ควรแต่งตัวลุค Professional แต่งหน้าทำผมให้เรียบร้อย ให้ดูสะอาด ห้ามใส่เสื้อยืด เพราะ First impression ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญเหมือนกันนะ

ค่าใช้จ่าย…

เป็นหัวข้อที่ไม่ค่อยอยากพูดถึงเท่าไหร่แต่ก็สำคัญสำหรับการไปศึกษาต่อต่างประเทศ นั่นก็คือ “เงิน” นั่นเอง เรารวบรวมค่าใช้จ่ายคร่าวๆที่จะเกิดขึ้นดังต่อไปนี้

Photo by Michael Longmire on Unsplash

ค่าสมัครสอบ S$50 หรือ 1,150 บาท
ค่าเรียนทั้งหมด S$51,360 หรือ 1,181,280 บาท
ค่าวีซ่านักเรียน S$120 หรือ 2,760 บาท
ค่าตรวจสุขภาพสำหรับทำวีซ่า 2,000 บาท
ค่ากักตัวโควิด 60,000 บาท
ค่าหอพัก S$1,000-$2,000/เดือน หรือ 276,000–552,000 บาท/ปี
ค่ากิน+เดินทาง S$800/เดือน หรือ 220,800 บาท/ปี

รวมแล้วค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 1,800,000 บาท (อย่าเพิ่งช็อคสลบกันไปนะ)

เราลองไปหาข้อมูลมาว่าถ้าทำงาน Data Scientist ที่สิงคโปร์จะคืนทุนเมื่อไหร่… พบว่าค่าเฉลี่ยรายได้ต่อปีคือ S$71,000 หรือ 1,633,000 บาท ทำปีกว่าๆก็คืนทุนแล้ว ถือว่าเร็วมากนะ แต่ถ้ากลับไทยค่าเฉลี่ยรายได้ต่อปีคือ 649,000 บาท ก็ต้องใช้เวลาเกือบ 3 ปีกว่าจะคืนทุน

ตลาดงาน…

Photo by Hu Chen on Unsplash

จากการที่ได้ลองคุ้ยหางานเกี่ยวกับ Data Science เราพบว่าที่สิงคโปร์มีงานแนวนี้เยอะกว่าประเทศไทยมาก (ก็แหงแหละ Infrastructure บริษัทยักษ์ใหญ่ในเอเชียอยู่ที่นั่นหมด) หลักสูตรนี้จึงเหมาะกับคนที่อยากจะลองหางานทำในสิงคโปร์ต่อหลังจากเรียนจบด้วย

แต่แน่นอนว่าถ้าคุณนักเรียนเป็นต่างชาติและหลุดพูดไปตอนสัมภาษณ์ว่าคิดจะมาหางานที่สิงคโปร์หลังเรียนจบ มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีนักเท่าไหร่ ทางมหาวิทยาลัยอาจจะมองว่าเราอยากเข้ามาทำหาเงินเยอะๆ หรือแย่งงานคนในประเทศเขาได้ เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะก้าวขาเข้าไปเรียนได้ ให้คิดถึงสิ่งที่เราสามารถทำให้ประเทศเราได้ด้วย หากตอนเรียนจบแล้วโชคดีได้งานที่นั่น มีบริษัทดึงตัวไว้ ก็ถือว่าเป็นโบนัสไปแล้วกัน

สิ่งศักดิ์สิทธิ์…

ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ

หากใครอ่านจนมาถึงหัวข้อนี้ ก็อยากจะบอกว่ายินดีด้วย! เพราะคุณจะได้รู้ความลับอีกอย่างเพื่อช่วยให้เราสอบมหาวิทยาลัยให้ติดตามที่หวังได้ สำหรับใครที่อยู่ในกรุงเทพฯ ขอแนะนำว่าให้ไป “บน” กับท่านพระพรหมเอราวัณ ณ สี่แยกราชประสงค์ และอย่าลืมทำให้ได้ตามที่บนไว้ แนะนำว่าลองสัญญากับท่านว่าจะทำความดีอะไรสักอย่างตอบแทน… อย่างของเราคือเราสัญญากับท่านว่าเราจะเลิกทานเนื้อวัวและดื่มแอลกอฮอล์เป็นระยะเวลา 6 เดือนหลังจากที่ได้รับ Offer จากมหาวิทยาลัย ทุกๆครั้งที่พยายามเราปฏิบัติตนให้เคร่งครัด มันเหมือนเป็นการสะกดจิตตัวเองด้วยพลังงานบวกว่าฉันทำได้ ฉันต้องติด ฉันต้องติด ฉันต้องติด

ที่มาของรูป: wikipedia

ก่อนจากกันไป…

ขอบคุณเพื่อนๆที่เข้ามาอ่านบทความวิชาการอันยาวเหยียดของเราในวันนี้ สำหรับใครที่กำลังหาที่เรียน ขออวยพรให้ทุกคนสมัครติดในที่ๆตัวเองต้องการไปเรียนนะคะ หวังว่าบทความนี้จะได้ให้เคล็ดลับและเป็นกำลังใจให้เพื่อนๆได้ทำตามความฝันตัวเองในการศึกษาต่อระดับสูง ใครมีคำถามอะไร หรืออยากจะพูดคุยกันก็ติดต่อมาได้เลยนะคะ วันนี้ขอลาไปก่อน…สวัสดีค่ะ :)

--

--