[ชีวิตสิงคโปร์] เปรียบเทียบค่าครองชีพ ไทย VS สิงคโปร์ จากอาชีพ Data Scientist
ยินดีต้อนรับค่ะ ช่วงนี้เราสนใจในอาชีพ Data Scientist เป็นพิเศษเพราะกำลังจะไปศึกษาต่อที่สิงคโปร์ และมีเวลาหาข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ของอาชีพนี้ระหว่างสองประเทศนี้จึงขอมาแบ่งปันให้เพื่อนๆฟังค่ะ ไทยขอเน้นเป็นที่กรุงเทพน้า ข้อมูลที่หามาได้มาจากอินเทอร์เน็ตและประสบการณ์ส่วนตัวจ้า // เรทเงิน 1 SGD = 23 THB
คำเตือน: บทความนี้ตัวเลขเยอะมาก ดูไฮไลท์ตัวหนาดีกว่าจ้า พอดีคิดเลขเพลินไปหน่อย
เงินเดือนเฉลี่ย
อัตราเงินเดือนโดยปกติหากทำงาน IT ในบริษัทที่ Core หลักคือ IT เลยจะได้ตัวเลขที่สูงกว่าทำงาน IT ในบริษัทธุรกิจอื่น เช่น Banking, น้ำมัน, การแพทย์ แต่หากตัดเรื่องลักษณะของบริษัท, วุฒิการศึกษา และประสบการณ์ ที่เป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเดือนแต่ละคนต่างกัน สามารถหาเงินเดือนเฉลี่ยออกมาได้ โดยบทความนี้นำตัวเลขมาจากข้อมูลที่ลงไว้ใน Glassdoor ซึ่งเป็นเว็บรีวิวเงินเดือนและบริษัทต่างๆทั่วโลก
เงินเดือนเฉลี่ยต่อเดือนของไทยคือ 50,000 บาท ส่วนสิงคโปร์คือ 149,500 บาท หรือ S$6,500 (สามเท่าตัว) ส่วนตัวเราว่าข้อมูลฝั่งไทยยังไม่มากพอที่จะนำมาเปรียบเทียบได้อย่างชัดเจน เนื่องจากของไทยมีคนแชร์เงินเดือนเพียงแค่ 27 คน ในขณะที่สิงคโปร์มี 300 คน ทำให้วิเคราะห์ได้สองแบบคือ คนไทยไม่ค่อยใช้ Glassdoor กัน หรืองาน Data Scientist ในไทยยังมีตำแหน่งไม่เยอะเท่ากับทางสิงคโปร์เลยไม่ค่อยมีคนมาแชร์ข้อมูลกัน
รายได้เฉลี่ยต่อปีไม่หักค่าใดๆ คือ ไทย 600,000 บาท สิงคโปร์ 1,794,000 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่หวือหวามากดึงดูดทีเดียว แต่เดี๋ยวก่อน…สิงคโปร์นี่ติดอันดับ 5 ค่าครองชีพสูงสุดในโลก ในขณะที่กรุงเทพอยู่อันดับที่ 35 แปลว่าถึงจะหาเงินได้มากแต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเช่นกัน
“หักภาษีและค่าใช้จ่ายแล้ว อยู่ไทยคงสบายกว่า”
ข้อความนี้จริงหรือเปล่าน้า มาลองคำนวณกัน…
ภาษีเงินได้
“ประเทศที่พัฒนาแล้ว เสียภาษีแพงกว่า” นี่คือวลีคลาสิกที่เจอได้ทั่วไปเวลานั่งถกกับคนอื่นเรื่องภาษีเงินได้ของแต่ละประเทศ เราเลยขอยกตัวอย่างการคำนวณภาษีของไทยกับสิงคโปร์โดยสมมติคนไทยโสด Profile เดียวกัน ทำงาน Data Scientist ที่ไทยและสิงคโปร์เป็นเวลาหนึ่งปี และหักค่าลดหย่อนที่เป็น Fixed Rate จากรัฐบาล เช่น ประกันสังคม สำหรับค่าลดหย่อนอื่นๆเช่น ช้อปช่วยชาติ จะไม่นำมาคิดเพราะในไทยมี แต่สิงคโปร์ไม่มี
ไทย เงินได้ 600,000 บาท หักค่าใช้จ่าย 100,000 / ลดหย่อนคนโสด 60,000 / ลดหย่อนประกันสังคม 9,000 เหลือเงินได้สุทธิ 431,000 ซึ่ง
- 150,000 แรก ไม่เสียภาษี
- 150,000 ถัดมา เสียภาษี 5% คิดเป็น 7,500
- 131,000 ที่เหลือ เสียภาษี 10% คิดเป็น 13,100
รวมหนึ่งปีต้องจ่ายภาษี 20,600 บาท คิดเป็นทั้งหมด 3.43% ของเงินได้
สิงคโปร์ รายได้ S$78,000 หักค่าลดหย่อนของการมีรายได้ S$1,000 เหลือเงินได้สุทธิ S$77,000
- S$40,000 แรก เสียภาษี S$550
- S$37,000 ที่เหลือ เสียภาษี 7% คิดเป็น S$2,590
รวมหนึ่งปีต้องจ่ายภาษี S$3,140 คิดเป็นทั้งหมด 4.06% ของเงินได้
#อุ๊ยยย นั่งคำนวณเสร็จถึงกับสะดุ้งกับตัวเลขที่ออกมา ขนาดต้องมาคำนวณใหม่อีกหลายรอบว่าคิดผิดหรือเปล่า เพราะตัวเลขใกล้กันมาก ไทยต่ำกว่าแค่ 0.63% สรุปแล้ว
ทำงานที่ไทยเสียภาษีเงินได้น้อยกว่าที่สิงคโปร์ก็นิดหน่อย หากต้องจ่ายภาษีในเปอร์เซ็นต์ที่ใกล้เคียงกัน คำถามคือทำไมถึงได้คุณภาพชีวิตที่แตกต่างกันมากขนาดนี้?
หมายเหตุ: หากทำงานมากกว่า 183 วันต่อปี สิงคโปร์คิดภาษีขั้นบันไดแบบ Tax Residents
ค่าเดินทาง
เอาละ ถึงเวลาเดินทางจากบ้านไปที่ออฟฟิศเพื่อทำงานแล้ว! เราคำนวณค่าเดินทางโดยใช้ขนส่งสาธารณะ โดยเปรียบเทียบบ้านพ่อแม่ตัวเองในไทย กับบ้านพ่อแม่เพื่อนที่สิงคโปร์ที่อยู่ในโซน Residential Area เหมือนกัน เดินทางไปยัง Central Business District (CBD) หรือสีลม ซึ่งมีระยะทาง 17 km เท่ากัน ใช้เวลาโดยสาร 1 ชั่วโมง หากต้องขึ้นขนส่งที่กินเวลานาน เช่น รถสองแถวในหมู่บ้านที่เอาแน่เอานอนเวลาไม่ได้ จะปรับไปใช้ขนส่งที่เร็วกว่าเพื่อให้ถึงที่ทำงานทันภายใน 1 ชั่วโมง คิดค่าเดินทางเฉพาะจันทร์-ศุกร์คือ 20 วันต่อเดือน
ไทย บ้าน — MRT สีลม
- นั่งวินออกจากบ้านไปยังป้ายรถเมล์ที่ใกล้ที่สุด ระยะทาง 2.1 km ราคา 40 บาท
- นั่งรถเมล์ร้อนไปยัง Airport link ราคา 10 บาท
- นั่ง Airport link ไปต่อ MRT ราคา 15 บาท
- นั่ง MRT ไปยังสถานีสีลม ราคา 26 บาท
ไป-กลับ 182 บาท/วัน หรือ 43,680 บาท ต่อปี คิดเป็น 7.28% ของเงินได้
สิงคโปร์ บ้าน — MRT Raffles Place
- เดินไปยังป้ายรถเมล์ที่ใกล้ที่สุด 400 เมตรจากบ้าน
- นั่งรถเมล์แอร์ไปยัง MRT ราคา S$0.92
- นั่ง MRT ไปยังสถานี Raffle Place ราคา S$1.68
ไป-กลับ S$5.2 ต่อวัน หรือ S$1,248 ต่อปี คิดเป็น 1.6% ของเงินได้
#อุ๊ยยย สะดุ้งกับตัวเลขรอบสอง สรุปได้ว่า
ขนส่งสาธารณะที่ไทยเสียมากกว่าที่สิงคโปร์ … นะจ๊ะ
ที่อยู่อาศัย
มาทำความเข้าใจก่อนว่าที่อยู่ในไทยกับสิงคโปร์แตกต่างกันอย่างไรบ้าง?
การเช่าที่อยู่ในกรุงเทพสำหรับคนเดียวมีให้เลือกว่าจะเช่าอพาร์ทเม้นท์ หรือคอนโด ซึ่งห้องส่วนมากถูกออกแบบเป็น Studio ที่มีห้องน้ำส่วนตัวและ Pantry ไว้ทำอาหาร หากเช่าอพาร์ทเม้นท์ก็จะได้แต่ห้อง แต่ถ้าเช่าเป็นคอนโดก็มี Facilities ส่วนกลาง เช่น สระว่ายน้ำ, สวน, Club house, Gym, สนามกีฬา, รปภ., CCTV, ห้องอ่านหนังสือ
ที่อยู่อาศัยในสิงคโปร์แบ่งได้สามแบบ 1. HBD สร้างโดยรัฐบาล 2. คอนโดสร้างโดยเอกชน 3.บ้านเป็นหลังเรียกว่า Bungalow สำหรับแบบ 1. และ 2. ภายในหนึ่ง Unit ถูกออกแบบให้มีมากกว่า 2 ห้องนอนขึ้นไปเพื่ออาศัยแบบครอบครัวหลายคน เมื่อห้องนอนว่างเจ้าของห้องก็จะปล่อยห้องนอนที่ว่างให้เช่า หมายความว่าเราก็ต้องไปอาศัยอยู่ในบ้านเขาและใช้ห้องน้ำกับครัวร่วมกัน ราคาเริ่มต้นที่ S$700 สำหรับ HDB แชร์กับคนอื่น และ S$1,200 สำหรับคอนโดแชร์กับคนอื่น. คอนโดและ Bungalow บางแห่งก็ออกแบบเป็นห้อง Studio ที่มีห้องน้ำและ Pantry ในตัว ซึ่งราคาจะสูงขึ้นอีก
มาลองคำนวณกันว่าถ้าเราใช้เงิน 30% (ตัวเลขจาก Rule of thumb) ของเงินเดือนที่หักประกันสังคม/CPFไปกับค่าเช่าห้อง ที่ไทยต้องใช้ไม่เกิน 14,775 บาท ส่วนที่สิงคโปร์ต้องใช้ไม่เกิน S$1,560 มาดูกันว่าด้วยงบนี้เราสามารถหาห้องเช่าที่อยู่สบาย ไม่ต้องไปแชร์กับคนอื่น และอยู่ใกล้กับ CBD ที่สุดได้ขนาดไหน
ไทย
- ราคา 12,000 บาท ขนาด 30 ตร.ม. อยู่ใจกลาง CDB
- ห้องน้ำ ตู้เสื้อผ้า ตู้ลิ้นชัก เตียง โต๊ะเขียนหนังสือ โต๊ะกินข้าว โต๊ะเครื่องแป้ง แอร์ ไมโครเวฟ เตาไฟฟ้า ตู้เย็นใหญ่ อ่างล้างจาน Pantry ระเบียงใหญ่
- เป็นคอนโด มีสระว่ายน้ำ ห้องเล่นเด็ก ยิม ระบบความปลอดภัย ข้างล่างคอนโดมีร้านตัดผม ร้านหมอฟัน ร้านขายของชำ ฯลฯ
สิงคโปร์
- ราคา S$1,450 ขนาด 23 ตร.ม. เดิน 5 นาทีถึง MRT และต่ออีก 3 สถานีถึง CBD
- ห้องน้ำ ตู้เสื้อผ้า ตู้ลิ้นชัก เตียง โต๊ะเขียนหนังสือ เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า แอร์ ไมโครเวฟ ทีวี กาต้มน้ำ ตู้เย็นเล็ก
- เป็นบ้าน Bungalow ที่เจ้าของบ้านแบ่งห้องแต่ละชั้นเป็นห้อง Studio มีลิฟท์และระบบความปลอดภัย ไม่มีบริเวณส่วนกลาง เช่น สระว่ายน้ำ ยิม
ในแง่ของการเช่าที่อยู่อาศัยไทยนั้นได้เปรียบมากกว่ามาก เนื่องจากมีคอนโดสำหรับอยู่คนเดียวหลายราคาให้เลือก ทำให้ตัดปัญหาเรื่องแชร์ห้องกับคนอื่นไปได้ สำหรับบริเวณสีลม ราคาที่พักเริ่มต้นที่ 8,000 บาท หรือ 16% ของเงินเดือน แต่ราคานี้ไม่มีพื้นที่ส่วนกลางและความปลอดภัยให้
ส่วนที่สิงคโปร์ หากอยากอยู่คนเดียวในงบ 30% ของเงินเดือน จะไม่สามารถหาห้องใน CBD ได้เลย และยังต้องเสียค่าเดินทางเพิ่มเติมอีกด้วย ถ้าอยากได้ห้อง Studio อยู่คนเดียวใจกลาง CBD ก็ต้องจ่ายเดือนละ S$3,000 คิดเป็น 46% ของเงินเดือน
ที่อยู่อาศัยในไทยชนะขาดลอย ราคาเป็นมิตร เดินทางสะดวก อยู่คนเดียวสบายใจ
อาหาร
ในบทความนี้เราจะไม่เปรียบเทียบค่าวัตถุดิบอาหารที่นำมาทำที่บ้าน เนื่องจากเราไม่ทำอาหารเองเลยไม่รู้ราคาเท่าไหร่ แต่จะเปรียบเทียบราคาจากอาหารกลางวันทั่วๆไปในย่าน CDB
ทุกๆวันที่ไปทำงานมนุษย์ออฟฟิศแถวย่านสีลมส่วนมากก็จะออกมาหาอาหารทานตาม Food court หรือเต๊นท์อาหารต่างๆ จากประสบการณ์ที่เคยทำงานกลางสีลมค่าอาหารกลางวันจะตกอยู่ที่ประมาณมื้อละ 50 บาท ในขณะที่ถ้าทานอาหารใน Food court (Hawker center) จะอยู่ที่มื้อละประมาณ S$5 หรือ 115 บาท
สมมติว่าใช้ราคานี้คำนวณค่าอาหารวันละ 3 มื้อ ต่อปีจะได้
ไทย 54,750 บาท คิดเป็น 9.13% ของเงินได้
สิงคโปร์ S$5,475 หรือ คิดเป็น 7.01% ของเงินได้
#อุ๊ยยย สะดุ้งกับตัวเลขรอบสาม สรุปได้ว่า
ค่าอาหารไทยเสียมากกว่าที่สิงคโปร์ … นะจ๊ะ
ค่าครองชีพอื่นๆ
นอกจากเรื่องเงินเดือน, ภาษี, ค่าเดินทาง, ค่าที่พัก และค่าอาหาร จริงๆแล้วยังมีเรื่องอื่นที่ต้องพิจารณาในการใช้ชีวิตด้วยเช่น ค่ารักษาพยาบาล แต่ขอไม่เขียนในบทความนี้เนื่องจากเรารู้แค่การรักษาพยาบาลของที่ไทย กับที่อังกฤษ (จากที่เคยไปเรียนมา) ส่วนระบบรักษาพยาบาลและประกันของสิงคโปร์ยังไม่มีข้อมูลจ้า
เงินเหลือ
คิดเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เขียนในบทความนี้
กรณีไม่มีค่าเช่าบ้าน: เงินเหลือ = รายได้ทั้งหมด-ภาษีเงินได้-ค่าเดินทาง-ค่าอาหาร
ไทย เหลือเก็บ 480,970 บาท คิดเป็น 80.16% ของรายได้
สิงคโปร์ เหลือเก็บ S$68,229 คิดเป็น 87.47% ของรายได้
กรณีอยู่ใจกลาง CBD: เงินเหลือ = รายได้ทั้งหมด-ภาษีเงินได้-ค่าอาหาร-ค่าเช่าห้อง(30%ของเงินเดือน) และไม่มีค่าเดินทางไปทำงาน
ไทย เหลือเก็บ 347,350 บาท คิดเป็น 57.89% ของรายได้
สิงคโปร์ เหลือเก็บ S$34,477 คิดเป็น 44.20% ของรายได้
จากการเปรียบเทียบแสดงได้เห็นว่าถ้ามีบ้านอยู่เป็นทุนเดิมไม่ต้องเสียค่าเช่า เปอร์เซ็นต์เงินเหลือเก็บระหว่างสองประเทศนี้ต่างกันไม่มากนัก สิงคโปร์มากกว่า 7% แต่เมื่อใดก็ตามที่ต้องจ่ายค่าเช่าห้อง ณ ใจกลาง CBD ที่สิงคโปร์จะเหลือเงินเก็บน้อยกว่าไทยประมาณ 14% อย่างไรก็ตามหากตีกลับเป็นเงินบาท ยอดเงินเหลือเก็บก็ยังเป็น 2.28 เท่าของเงินเหลือเก็บที่ไทยอยู่ดี (เงินเหลือเก็บปีละ 8 แสนบาทจากสิงคโปร์)
สรุป
การทำงานที่ไทยและสิงคโปร์เสียเปอร์เซ็นต์ภาษีใกล้เคียงกัน ไทยเสียค่าเดินทางและค่าอาหารมากกว่าที่สิงคโปร์ แต่ข้อได้เปรียบของที่ไทยคือค่าเช่าที่พักอาศัยใน CBD ถูกกว่าสิงคโปร์เกือบ 5.75 เท่า ใครที่ได้งานในสิงคโปร์คงต้องพิจารณาหาห้องเช่าที่ราคาต่ำกว่านี้ หรืออาจจะต้องลด Preference ยอมไปอยู่ HDB หรือแชร์ห้องกับผู้อื่นเพื่อให้ได้ห้องในทำเลที่ใกล้กับที่ทำงาน
ไม่ว่าจะอยู่ไทยก็ดี สิงคโปร์ก็ดี ทุกๆที่ย่อมมีข้อดีและข้อเสียในตัวของมันเอง แต่ละคนก็มีความต้องการที่แตกต่างกันไป จงเลือกให้ได้ว่าที่ไหนตอบโจทย์กับ LifeStyle ตัวเองมากที่สุดเนอะ
ปล.ความน่ากลัวของที่อยู่อาศัยของสิงคโปร์ยังมีอีกเยอะที่เราไม่ได้พูดถึง ให้ไว้เป็นน้ำจิ้มว่า…คอนโดสิงคโปร์หนึ่งห้องนอนราคาเริ่มต้น 11 ล้านบาทนะ OMG!
ขอบคุณทุกคนที่อ่านมาจนจบนะคะ หากมีคำถามเรื่องการคำนวณตรงไหน ติดต่อมาได้เลยค่ะ ส่วนใครมีข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องอื่นๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล, ชีวิตการทำงานจริงๆที่ทั้งไทยและสิงคโปร์ มาแชร์กันได้นะคะ นี่ก็หาข้อมูลนิดๆหน่อยๆมาได้แค่นี้ :-)
[เสริม] จุดค้มทุนหลังจากเรียนจบ
เงินลงทุนสำหรับเรียนป.โทหนึ่งปีที่สิงคโปร์คิดเป็นเลขกลมๆ ได้ที่ 1.83 ล้านบาท รวมค่าเทอม ที่อยู่อาศัย กินอยู่ วีซ่า ตั๋วเครื่องบิน ค่ากักตัว เรียบร้อยแล้ว ทีนี้ลองมาคำนวณกันว่าหลังจากเรียนจบแล้วทำงานที่ไทยหรือที่สิงคโปร์ จะต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ถึงจะคืนทุน
ลองมาคิดเล่นๆดูว่าถ้าทำงานที่ไทยเงินเดือน 50,000 ไม่มีค่าเช่าห้องที่ต้องจ่าย จะต้องใช้ระยะเวลา 3.8 ปีถึงจะคืนทุน ถ้าทำงานที่สิงคโปร์มีค่าเช่าห้อง (นอก CBD) ต้องใช้ระยะเวลา 1.57 ปีถึงจะคืนทุน เรียกว่ากดสูตรได้ทุนคืนเร็วกว่าทำที่ไทย 2.5 เท่า
เรายังถือว่าเป็นผู้ไม่มีประสบการณ์การทำงานสาย Data Scientist (ตัดประสบการณ์ด้าน IT Consulting และ Education 3.5 ปีที่ทำมาก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นคนละสาขากัน) หากต้องกลับมาไทยรับเงินเดือน 50,000 สำหรับเราราคานี้ไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่เนื่องจากรายได้วุฒิป.ตรีสูงกว่าเงินเดือนอาชีพ Data Scientist พูดง่ายๆคือกลับมาทำราคานี้ขาดทุน เง้อออออ~~~